เว็บไซต์ภายใต้กรม ฯ
การจัดรูปแบบโรงงานผลิตอาหารและเครื่องดื่มให้สอดคล้องกับ GMP ตอนที่ 1
ประเทศไทยเป็นแหล่งเพาะปลูกที่สำคัญของโลก มีผลผลิตทางการเกษตรที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นข้าว อ้อย มันสำปะหลัง รวมถึงผักและผลไม้ ไทยผลิตสินค้าทางการเกษตรออกสู่ตลาดทั้งในและต่างประเทศ แต่ในบางฤดูกาลพบว่า ผลผลิตทางการเกษตรที่ออกมาพร้อมๆมีปริมาณล้นตลาด ทำให้ราคาตกต่ำ การแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร เป็นการนำเอาผลผลิตทางการเกษตรมาผ่านกระบวนการต่างๆ เพื่อให้เก็บรักษาผลผลิตทางเกษตรไว้ได้นานก่อนถึงตลาดและผู้ซื้อ การนำผลผลิตทางการเกษตรมาแปรรูปจะช่วยป้องกันปัญหาผลผลิตสดล้นตลาด ซึ่งช่วยยกระดับราคาผลิตผลไม่ให้ตกต่ำ และยังเป็นการเพิ่มมูลค่าของผลผลิตทางการเกษตร
ประเด็นพิจารณาในการวางผังโรงงาน
1. ทำให้สามารถใช้พื้นที่ เครื่องมืออุปกรณ์ และแรงงานได้อย่างมีประโยชน์มากขึ้น
2. การไหลเวียนของวัตถุดิบ งานระหว่างทำ หรือแรงงานดีขึ้น
3. ทำให้สภาพแวดล้อมในการทำงานและขวัญกำลังของผู้ปฎิบัติงานดีขึ้น
4. ทำให้เกิดความสะดวกและความยืดหยุ่นในการปฏิบัติงาน
5. จัดวางพื้นที่ให้มีประโยชน์อย่างเต็มที่ ไม่ควรให้มีพื้นที่ว่างเปล่า หรือสูญเปล่ามากเกินไป
6. ลดความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพ และสร้างความปลอดภัยให้กับคนงาน
ข้อมูลพื้นฐานในการวางผังโรงงาน มีดังนี้
- วางผังโรงงานขั้นต้นก่อนที่จะมีการวางผังอย่างละเอียดอีกครั้งหนึ่ง
- พิจารณาเลือกวิธีการผลิต และเครื่องจักรที่ใช้ในการผลิตและทราบกำลังแรงม้ารวมทั้งโรงงาน
- เลือกแบบผังโรงงานและส่วนต่อเนื่องเช่นระบบบำบัดน้ำเสีย
- เลือกระบบการขนย้ายวัสดุ
- วางผังโรงงานให้เข้ากับตัวอาคารโรงงาน
- วางผังโดยใช้รูปวาด หรือแบบจำลองเป็นเครื่องช่วย
- ติดต่อขอทราบความคิดเห็น และข้อเสนอแนะจากบุคลที่เกี่ยวข้อง
- วางผังโรงงานไว้หลาย ๆ แบบ เลือกแบบที่ดีที่สุดเพียงแบบเดียว
- ขออนุญาตหน่วยงานราชการเกี่ยวข้องให้เป็นที่เรียบร้อย
ขั้นตอนการวางผังโรงงาน
1. การวางผังโรงงานขั้นต้น เป็นการกำหนดขอบเขตอย่างกว้างๆ ว่าจะให้พื้นที่นี้ทำอะไร และพื้นที่นี้ควรจะต้องอยู่ติดกับหน่วยงานใด
2. การวางผังโรงงานอย่างละเอียด เป็นการกำหนดรายละเอียดในแต่ละแผนกว่าในแผนกนี้จะติดตั้งเครื่องจักร เครื่องมือตรงไหน เส้นการจราจรภายในแผนก รวมถึงการวางโต๊ะทำงาน
3. การติดตั้งเครื่องจักร ขั้นนี้เป็นขั้นนำการวางผังโงงานอย่างละเอียดมาสู่การปฏิบัติ ก็คือ การติดตั้งเครื่องจักรตามที่วางผังไว้แล้วให้สามารถปฏิบัติงานได้
การวางผังโรงงานผลิตอาหารตามข้อกำหนดตาม GMP (Good Manufacturing Practice)
- ทำเลที่ตั้งโรงงานควรอยู่ห่างจากแหล่งชุมชน แหล่งกำจัดขยะ โรงงานที่มีฝุ่นควัน หรือมีกลิ่นแปลกปลอม
- สถานที่ตั้งตัวอาคารและที่ใกล้เคียง ต้องอยู่ในที่ที่จะไม่ทำให้อาหารที่ผลิตเกิดการปนเปื้อนได้ง่าย เช่น ไม่อยู่ใกล้เคียงกับสถานที่น่ารังเกียจ และอยู่ห่างจากบริเวณหรือสถานที่ที่มีฝุ่นมากผิดปกติ
- สถานที่ตั้งตัวอาคารและบริเวณโดยรอบสะอาด ไม่ปล่อยให้มีการสะสมสิ่งที่ไม่ใช้แล้ว หรือสิ่งปฏิกูลอันอาจเป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์นำโรคและแมลง รวมทั้งเชื้อโรคต่าง ๆ ขึ้นได้
- สภาพแวดล้อมรอบโรงงานต้องไม่รกรุงรัง ถ้ามีสนามหญ้าต้องตัดหญ้าให้สั้น เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งซุกซ่อนของสัตว์พาหะนำโรค หากเป็นไปได้ควรเป็นพื้นซีเมนต์รอบโรงงาน เพื่อให้ทำความสะอาดได้ง่ายและสามารถเดินตรวจรอบโรงงานได้สะดวก ควรหลีกเลี่ยงการปลูกต้นไม้ใหญ่ใกล้อาคารผลิต เพื่อป้องกันปัญหาจากนกและแมลง
- สาธารณูปโภค โรงงานต้องมีแหล่งน้ำใช้ที่ดี มีแหล่งไฟฟ้าที่เพียงพอ อยู่ใกล้แหล่งวัตถุดิบหรือมีการคมนาคมที่สะดวก มีแรงงานเพียงพอ รวมถึงมีพื้นที่ในการกำจัดของเสียและขยะ
- บริเวณพื้นที่ตั้งตัวอาคารไม่มีน้ำขังแฉะและสกปรก และมีท่อระบายน้ำเพื่อให้ไหลลงสู่ทางระบายน้ำสาธารณะ
- จัดให้มีพื้นที่เพียงพอที่จะติดตั้งเครื่องมือและอุปกรณ์ที่ใช้ในการผลิตให้เป็นไปตามสายงานการผลิตอาหารแต่ละประเภท และแบ่งแยกพื้นที่การผลิตเป็นสัดส่วนเพื่อป้องกันการปนเปื้อนอันอาจเกิดขึ้นกับอาหารที่ผลิตขึ้น
- ไม่มีสิ่งของที่ไม่ใช้แล้วหรือไม่เกี่ยวข้องกับการผลิตอยู่ในบริเวณผลิต
- จัดให้มีแสงสว่างและการระบายอากาศที่เหมาะสมเพียงพอสำหรับการปฏิบัติงานภายในอาคารผลิต พื้นควรทำด้วยวัสดุที่ทนทาน มีความแข็งแรงเพียงพอที่จะรับน้ำหนักเครื่องจักรและอุปกรณ์การผลิต มีความทนทานต่อแรงกระแทก ไม่ดูดซับน้ำ ผิวเรียบไม่มีรอยแตกร้าว ไม่กัดกร่อน ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อได้ง่าย ทนต่อน้ำยาทำความสะอาด สารเคมี และทนความร้อน
- พื้นควรมีผิวเรียบแต่ต้องไม่ลื่น อาจจะเคลือบด้วยวัสดุที่ทนต่อการกัดกร่อนและแรงกระแทก เช่น อีพ็อกซีเรซิน (Epoxy resin) อะคริลิกเรซิน (Acrylic resin) หรือยางคลอริเนตเต็ดบิวทาไดอีนและสไตรีน (Chlorinated and Styrene Butadiene Rubber)
- พื้นควรลาดเอียงเพียงพอที่จะระบายน้ำได้ โดยลาดเอียงสู่ทางระบายน้ำ ซึ่งไม่ควรห่างมากกว่า 5 เมตร โดยทำมุม 1 ใน 40 เพื่อไม่ให้น้ำนอง
- ทางระบายน้ำต้องมีเพียงพอที่จะระบายน้ำในระหว่างการผลิตได้ทัน
- ท่อหรือทางระบายน้ำควรมีตะแกรงดักเศษอาหารไม่ให้ท่ออุดดัน ปลายท่อระบายน้ำที่เปิดออกสู่นอกอาคารต้องมีตะแกรงปิดกั้นไม่ให้หนูหรือสัตว์นำโรคเข้ามาในบริเวณผลิตได้
- ท่อระบายน้ำควรมีความลาดเอียงให้น้ำไหลได้สะดวก ไม่ขังนิ่ง และลึกพอที่จะไม่ให้น้ำเอ่อล้น
- ท่อควรทำด้วยวัสดุที่ทนต่อการกัดกร่อน เช่นเหล็กปลอดสนิม หรือ PVC. ภายในท่อควรโค้งมนเพื่อให้สามารถทำความสะอาดได้ง่าย
- ทางระบายน้ำควรมีฝาปิดแบบโปร่งเพื่อมองเห็นภายในได้ และสามารถยกออกเพื่อล้างทำความสะอาดท่อได้ง่าย
- ประตูควรทำด้วยวัสดุที่มีผิวเรียบ ไม่ซึมน้ำ ควรทำจากโลหะ สามารถทำความสะอาดและฆ่าเชื้อได้ง่าย ไม่ควรทำจากไม้หรือติดกระจก หากติดกระจกต้องติดฟิล์มป้องกันการกระจายของกระจกกรณีกระจกแตก ประตูต้องปิดได้สนิทและแนบพอดีกับวงกบ
- ขอบวงกบควรพอดีกับผนัง เพื่อป้องกันการสะสมฝุ่นละอองและสิ่งสกปรก ประตูที่เปิดออกสู่ภายนอกอาคารต้องติดม่านพลาสติก ซึ่งเป็นแผ่นพลาสติกซ้อนกันเพียงพอที่จะป้องกันแมลงได้
- ประตูที่เปิดออกสู่ภายนอก เช่นประตูบริเวณรับวัตถุดิบ หรือบริเวณทิ้งขยะ ควรเป็นประตูสองชั้นเพื่อป้องกันแมลงเข้าสู่อาคาร การเปิดประตูต้องเปิดเพียงประตูเดียวขณะใช้งาน เช่นเปิดประตูด้านนอกเพื่อรับวัตถุดิบ ขณะที่ประตูด้านในที่เปิดสู่บริเวณผลิตปิด เมื่อรับวัตถุดิบเสร็จปิดประตูด้านนอก แล้วค่อยเปิดประตูด้านในนำวัตถุดิบเข้าบริเวณผลิต
- หน้าต่างควรทำด้วยวัสดุที่ไม่ซึมน้ำ สามารถทำความสะอาดและฆ่าเชื้อได้ง่าย ไม่ควรทำจากไม้ บานกระจกควรใช้พลาสติกใสที่ทนต่อความร้อน หากจำเป็นต้องเป็นบานกระจกต้องติดฟิล์มที่กระจกเพื่อป้องกันการแตกกระจายของเศษกระจก กรณีกระจกแตก
- หน้าต่างที่เปิดได้เพื่อระบายอากาศหรือความร้อน ต้องติดมุ้งลวดที่มีตาข่ายถี่พอที่จะป้องกันแมลงและนกได้ มุ้งลวดนี้ต้องสามารถถอดล้างได้ง่าย หน้าต่างควรปิดได้สนิท ไม่มีช่องโหว่รอบขอบบานหน้าต่าง ขอบฐานหน้าต่างควรเอียงทำมุมอย่างน้อย 45 องศา ทั้งด้านในและด้านนอกอาคารเพื่อไม่ให้เป็นที่สะสมของฝุ่นละออง ทำความสะอาดได้ง่าย และช่วยป้องกันไม่ให้เป็นที่เกาะของนก หรือเป็นทางเดินของสัตว์นำโรค และส่วนลาดเอียงของขอบหน้าต่างด้านในจะช่วยป้องกันไม่ให้เป็นที่วางของวัสดุต่างๆ เช่นนอต หรือตะปู เป็นต้น