เว็บไซต์ภายใต้กรม ฯ
แนวทางการคัดเลือกบรรจุภัณฑ์อาหารที่เหมาะสม
การเลือกใช้บรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสมกับประเภทอาหาร มีปัจจัยที่ต้องพิจารณา คือ
1. คุณลักษณะของตัวผลิตภัณฑ์อาหาร เช่น เป็นอาหารสด หรือเป็นอาหารที่ผ่านการแปรรูปแล้ว
2. รูปแบบของบรรจุภัณฑ์ที่มีต้นทุนที่เหมาะสมกับราคา
3. ความสามารถในการรักษาคุณภาพของอาหารได้ตามอายุการเก็บรักษา (Shelf Life)
4. เทคนิคในการบรรจุ
5. สภาวะในการขนส่งและการจัดเก็บ
6. ช่องทางการจัดจำหน่ายหรือวิธีการ เช่น ขายตามซุปเปอร์มาร์เก็ตหรือขายตามตลาดสด เป็นต้น
จากประเภทผลิตภัณฑ์อาหารพื้นบ้าน ซึ่งไม่รวมอาหารพร้อมปรุงและอาหารแช่แข็งสามารถแบ่งได้เป็น 6 กลุ่ม ซึ่งอาหารแต่ละกลุ่มควรเลือกใช้บรรจุภัณฑ์ประเภทใดตารางด้านล่าง ชนิดของบรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสมกับประเภทของอาหารแปรรูป
ประเภทอาหาร | ชนิดบรรจุภัณฑ์ | คำแนะนำ |
---|---|---|
1. อาหารผ่านการอบแห้ง | 1.1 ซองพลาสติก PE | มีราคาถูกและปิดผนึกด้วยความร้อนได้ง่าย แต่ไม่สามารถป้องกันความชื้น |
1.2 ซองพลาสติก PP | สามมารถป้องกันความชื้นได้ดี แต่ปิดผนึกยากกว่าฟิล์ม PE เนื้อพลาสติกมีความใสช่วยเพิ่มคุณค่าสินค้า | |
1.3 เซลโลเฟลนหรือกระดาษแก้ว | สามารถป้องกันความชื้นได้ระดับหนึ่งมักนิยมใช้ห่อปิดปลาย (Twist Wrap) | |
1.4 กระป๋องพลาสติกหรือกระบอกพลาสติกมีฝาปิด | เห็นสินค้าได้รอบตัว ควรปิดฝาด้วยเทปให้สนิท | |
1.5 ถาดพลาสติกใสชนิดมีฝาเป็นแบบกาบหอย (Clam Shell) | ควรปิดฝาด้วยความร้อน หรือใช้เทปใสปิดสนิทให้รอบถาด แทนที่จะใช้ลวดตะเข็บ | |
1.6 กระป๋องโลหะ | สามารถสร้างจุดเด่นที่ดีให้แก่สินค้าและแปลกใหม่ แต่มีมูลค่าสูง | |
1.7กระป๋องกระดาษ | คล้ายคลึงกับกระป๋องโลหะแต่พิมพ์สวยงามได้ง่ายกว่า | |
1.8 ถุงฟิล์มพลาสติกหลายชั้น อาจใช้แบบมีก้นวางตั้งได้ อาจมีซิปล็อคด้วย | เป็นบรรจุภัณฑ์รูปลักษณ์ใหม่ก่อให้เกิดความสะดวกในการบริโภค และสามารถใช้เทคนิคระบบบรรจุภัณฑ์ใหม่ๆ เช่น ระบบสุญญากาศ การเติมแก๊ส เป็นต้น ซึ่งจะช่วยยืดอายุอาหารเก็บได้นาน | |
2. อาหารหมักดอง | 2.1 กระป๋องโลหะ | เหมาะกับอาหารที่ต้องผ่านการฆ่าเชื้อ มีขนาดมาตรฐานจัดหาเองได้ง่าย แต่จะไม่เหมาะกับอาหารที่มีความเป็นกรดสูง เพราะกรดอาจกร่อบแล็กเกอร์ที่เคลือบด้านในกระป๋อง |
2.2 บรรจุภัณฑ์แก้ว | เหมาะกับอาหารที่ต้องผ่านการฆ่าเชื้อ ทั้งนี้จะต้องใช้ฝาปิดได้สนิท ความใสและคุณสมบัติของแก้วมีส่วนช่วยเพิ่มคุณค่าของสินค้า | |
2.3 ถุงพลาสติก PE | เหมาะกับการจำหน่ายวันต่อวัน | |
2.4 ปี๊บ | ใช้เป็นบรรจุภัณฑ์ขนส่ง ถ้าใช้ปี๊บเปล่าควรพิจารณาสารเคลือบที่เหมาะสม หรืออาจใช้ถุง PE อย่างหนาเป็นบรรจุภัณฑ์ชั้นใน | |
2.5 ถุงต้มได้ หรือ Retort Pouch | โครงสร้างพื้นฐานเป็นฟิล์มเคลือบของ PET เคลือบกับเปลวอะลูมิเนียมและ CPP สามารถฆ่าเชื้อสินค้าพร้อมถุงได้ ถุงอาจมีราคาแพงแต่จะช่วยลดค่าขนส่งและช่วยถนอมคุณค่าอาหารได้ดีกว่าอาหารกระป๋อง | |
3. อาหารถนอมด้วยการฆ่าเชื้อที่มีความร้อนสูง | 3.1 ขวดแก้ว | มีขนาดขวดมาตรฐานจากผู้ผลิต ควรเลือกฝาที่มีคุณภาพสูง ทนอุณหภูมิฆ่าเชื้อได้ |
3.2 กระป๋อง หรือ ซองพลาสติกทนความร้อนสูง (Retort Pouch) | มีขนาดมาตรฐานและฆ่าเชื้อได้ง่าย ถุงฟิล์มเคลือบหลายชั้นมีศักยภาพสูง | |
3.3 ถุงพลาสติกในกล่องกระดาษลูกฟูก (Bag in Box) | พิจารณาใช้พลาสติกที่ฆ่าเชื้อด้วยความร้อนได้ เช่น CPP สามารถลดต้นทุนขนส่งได้ | |
4. เครื่องเทศและผงปรุงรส | 4.1 ขวดแก้ว | บรรจุภัณฑ์ที่สามารถเก็บกลิ่นได้ดี ไม่ยอมให้อากาศเข้าไปทำปฏิกิริยากับเครื่องเทศ สร้างภาพพจน์ของสินค้าให้ดูมีราคา |
4.2 ขวดพลาสติก | ควรพิจารณาเลือกพลาสติกที่มีความหนาแน่นสูง เช่น HDPE , PET เพื่อป้องกันกลิ่นซึมผ่านบรรจุภัณฑ์ | |
4.3 ถุงเคลือบหลายชั้น (Laminated Film) | เป็นบรรจุภัณฑ์ด้วยอะลูมิเนียม ซึ่งสามารถเก็บรักษากลิ่นได้ดีและป้องกันความชื้นได้ดี | |
5. ขนมเบเกอรี่ และขนมหวาน |
5.1 กล่องกระดาษแป้ง | บรรจุภัณฑ์ที่สามารถพิมพ์ตกแต่งได้อย่างสวยงาม ราคาถูก |
5.2 ถาดพลาสติกใสแบบกาบหอย (Clam Shell) | สามารถมองเห็นสินค้า เพิ่มคุณค่าให้แก่สินค้า ถ้าใช้พลาสติกที่มีอัตราการซึมผ่านของก๊าซน้อย สามารถใช้เทคนิคระบบบรรจุภัณฑ์สมัยใหม่ เช่น การปรับสภาวะโดยการฉีดก๊าซเฉื่อย (ไนโตรเจนหรือคาร์บอนได้ออกไซด์) เพื่อยืดอายุอาหาร แต่ตัวฝาต้องปิดสนิทด้วยความร้อนได้ | |
5.3 ถาดพลาสติกหรือกระดาษที่ปิดฝาด้วยความร้อนบนแผ่นฟิล์ม | ราคาถูกกว่า แต่ต้องคัดเลือกประเภทของพลาสติกให้เหมาะกับสินค้า | |
5.4 ถาดอะลูมิเนียมพร้อมฝาทำด้วยอะลูมิเนียมหรือกระดาษเคลือบพลาสติกหรือพลาสติก | มีราคาสูงแต่สามารถปกป้องรักษาคุณภาพสินค้าไว้ได้นาน เหมาะสำหรับแช่เย็นหรือแช่แข็ง | |
6. นมหรือไอศกรีม | 6.1 ถ้วยหรือขวดพลาสติกปิดฝาด้วยกระดาษหรือฟิล์ม | เป็นบรรจุภัณฑ์ที่มีราคาถูกแต่เก็บได้ไม่เกิน 1 สัปดาห์ |
6.2 ซองเคลือบหลายชั้น (Laminated Film) | ชั้นพลาสติกหลายชั้น อาจมีชั้นที่ป้องกันแสง UV เพื่อยืดอายุสินค้า | |
6.3 กล่องเคลือบหลายชั้นดัวยกระดาษแข็งที่ใช้กับระบบฆ่าเชื้อ UHT | เป็นวัสดุบรรจุภัณฑ์ที่ใช้เทคโนโลยีการผลิตสูง มีราคาสูง แต่สามารถถนอมรักษาอาหารได้นาน | |
6.4 ถ้วยหรือถ้วยกระดาษ |
เป็นบรรจุภัณฑ์ที่มีศักยภาพในการสร้างความยอมรับได้มากโดยเฉพาะสินค้าส่งออก เพราะประเทศที่พัฒนาแล้วถือว่ากระดาษเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม |
บรรจุภัณฑ์อาหารที่นิยมใช้จากตารางด้านบนจะพบว่า มีบรรจุภัณฑ์ที่ใช้บรรจุใส่อาหารอยู่เป็นจำนวนมาก และบรรจุภัณฑ์แต่ละประเภทมีคุณลักษณะ มีความเหมาะสมในการบรรจุอาหารแต่ละประเภทแตกต่างกัน จากสภาพการแข่งขันทางการตลาด ทำให้ผู้ประกอบการต้องการพัฒนาคุณภาพสินค้า เพื่อสร้างความพึงพอใจให้แก่ผู้บริโภค การพัฒนาบรรจุภัณฑ์ใหม่ๆ มาแทนที่บรรจุภัณฑ์เดิมที่มีอยู่ในตลาด จึงเป็นอีกแนวทางในการเอาชนะใจผู้บริโภค ด้วยเหตุนี้ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์แต่ละประเภท อันได้แก่ บรรจุภัณฑ์ผลิตจากเยื่อและกระดาษ บรรจุภัณฑ์พลาสติก บรรจุภัณฑ์โลหะ และบรรจุภัณฑ์แก้ว