เว็บไซต์ภายใต้กรม ฯ
การจัดทำงบกระแสเงินสดแบบง่าย
เรามักถูกถามเวลาไปขอสินเชื่อที่ธนาคาร พนักงานสินเชื่อมักถามว่า cashflow ของกิจการเป็นอย่างไรบ้างมีเงินเหลือเท่าใดและก็จะให้เราทำ cashflow ส่งมาให้ดูก่อน เรามารู้จักกันว่างบกระแสเงินสดหรือ Cashflow statement เป็นอย่างไร งบกระแสเงินสดคืองบที่แสดงการเพิ่มขึ้นหรือลดลงของกระแสเงินสด(สภาพคล่องของกิจการ) ของกิจการโดยบอกให้ทราบถึงแหล่งที่มา (Source) และการใช้ไป (Use) ของเงินสด กระแสเงินสดของกิจการมาจาก 3 กิจกรรมหลัก ดังนี้
1. กระแสเงินสดจากกิจกรรมการดำเนินงาน (Cash flow from operation)
2. กระแสเงินสดจากกิจกรรมการลงทุน (Cash flow from investment)
3. กระแสเงินสดจากกิจกรรมการจัดหาแหล่งเงินทุน (Cash flow from financing)
กิจการ SMEs ขนาดเล็กที่เป็นบุคคลธรรมดาและร้านค้าที่จดทะเบียนพาณิชย์ไม่จำเป็นต้องจัดทำงบกระแสเงินสดเต็มรูปแบบเหมือนบริษัทระดับใหญ่หรือระดับกลางเพราะธุรกิจขนาดเล็กจะแบ่งรายการยากกว่าบริษัทมาก เพราะไม่ทราบเงินสดประเภทนี้ถูกแบ่งว่ามาจากกิจกรรมใด กิจการขนาดเล็กต้องการทราบเพียงว่าเงินสดรับและเงินสดจ่ายหักกันแล้วจะเหลือเท่าไหร่ (คือกระแสเงินสดสุทธิ) และเงินสดสุทธินี้จะเพียงพอกับค่าใช้จ่ายไหม การจัดทำงบกระแสเงินสดมีประโยชน์มากสำหรับธุรกิจทุกประเภทและทุกขนาดและมีมากที่สุดสำหรับธุรกิจที่ต้องหมุนเงินและขาดสภาพคล่องเพราะการทำงบนี้ก็เพื่อช่วยวางแผนหาเงินล่วงหน้าเพื่อมาแก้ไขปัญหาขาดสภาพคล่องนั่นเอง กิจการที่มีรายได้สม่ำเสมอจะวางแผนการจัดหาเงินสดง่ายกว่ากิจกรรมที่มีรายได้ไม่แน่นอน เปรียบเสมือนพนักงานที่กินเงินเดือนประจำก็วางแผนการใช้เงินง่ายกว่าคนที่ทำอาชีพอิสระ ยกตัวอย่าง นางสาวแสงเดือนมีเงินเดือนประจำเดือนละ 40,000 บาท (เป็นกระแสเงินสดรับ) และมีค่าใช้จ่ายรายเดือน (กระแสเงินสดจ่าย) คือผ่อนรถ 12,000 บาท ค่าอาหาร ค่าน้ำมัน ค่ามือถือและจิปาทะอีกเดือนละ 18,000 บาท รวมมีค่าใช้จ่ายประจำเดือนๆละ 30,000 บาท เมื่อนำหักเงินสดรับจะเป็นเงินสดสุทธิที่เหลือจำนวน 10,000 บาท หากเปลี่ยนนางสาวแสงเดือนเป็นธุรกิจก็บอกได้ว่าธุรกิจนี้มีเงินเหลือเดือนละ 10,000 บาท เมื่อจะไปขอเงินกู้กับธนาคารก็สามารถผ่อนชำระได้ไม่เกินเดือนละ 10,000 บาทเพราะถ้าผ่อนมากกว่านี้ก็จะมีปัญหาขาดสภาพคล่องแน่นอน ดังนั้นที่เราจัดทำงบกระแสเงินสดก็เพื่อให้เราวางแผนได้ว่าเดือนนี้เรายังขาดเงินอีกเท่าใดทำให้เราจัดหาเงินทุนหมุนเวียนได้ทันท่วงทีไม่ใช่ต้องวิ่งหาเงินเมื่อเงินขาดมือซึ่งจะไม่ทันการณ์และทำให้ต้องเครียดด้วย
การจัดทำงบกระแสเงินสดที่แบ่งกิจกรรมนั้นอาจยุ่งยากเกินไปสำหรับผู้ประกอบการมือใหม่ ทาง BSC จึงได้จัดทำงบกระแสเงินสดในตาราง Excel ให้ผู้สนใจสามารถ download เพื่อจะได้ไปวางแผนกระแสเงินสดของตนเองได้หรือจัดทำเพื่อส่งธนาคารในการขอสินเชื่อให้เร็วขึ้น ในตารางที่จัดทำให้ download นั้นขอให้ผู้ประกอบการเติมตัวเลขเฉพาะช่องสีเหลืองเท่านั้นส่วนในช่องสีขาวทางศูนย์ได้ผูกสูตรไว้แล้ว และงบที่จัดทำขึ้นมานี้จะเป็นงบที่จัดทำเป็นรายเดือนและรวมกันเป็นหนึ่งปีเพื่อให้วางแผนเป็นรายเดือนได้ หากเงินสดติดลบก็จะทราบว่าติดลบหรือขาดไปเท่าไหร่เพื่อไปขอยืมจากเพื่อนฝูง หุ้นส่วนหรือสถาบันการเงินได้ ทาง BSC ได้จัดทำงบกระแสเงินสดเป็นระยะเวลา 3 เดือนเพื่ออธิบายให้ผู้ประกอบการให้เข้าใจได้มากกว่านี้
งบกระแสเงินสด ปี 2559
รายการ | ม.ค. | ก.พ. | ม.ค. |
---|---|---|---|
เงินสดต้นงวด | 58,800.00 | 47,800.00 | 33,300.00 |
เงินสดจากการขายเสื้อ | 60,000.00 | 70,000.00 | 80,000.00 |
เงินสดจากการขายเครื่องประดับ | 60,000.00 | 40,000.00 | 40,000.00 |
เงินสดจากรายได้อื่นๆ | 50,000.00 | 60,000.00 | 40,000.00 |
กระแสเงินสดรับ | 228,800.00 | 217,800.00 | 193,300.00 |
ค่าวัตถุดิบ | 30,000.00 | 30,000.00 | 40,000.00 |
ค่าวัสดุสิ้นเปลือง | 4,000.00 | 5,000.00 | 4,000.00 |
ค่าขนส่ง-หีบห่อ | 2,000.00 | 3,000.00 | 2,000.00 |
ค่าภาษีมูลค่าเพิ่ม | 5,000.00 | 7,500.00 | 5,000.00 |
ค่าใช้จ่ายกรรมการ | 20,000.00 | 20,000.00 | 20,000.00 |
ค่าแรงงาน | 40,000.00 | 40,000.00 | 40,000.00 |
เงินเดือนสำนักงาน | 20,000.00 | 20,000.00 | 30,000.00 |
ค่าเช่า | 10,000.00 | 10,000.00 | 1 0,000.00 |
การตลาด | 5,000.00 | 5,000.00 | 5,000.00 |
ค่าน้ำมันและเดินทาง | 5000.00 | 5,000.00 | 2,000.00 |
ค่าไฟฟ้า, น้ำประปา | 2,000.00 | 2,500.00 | 5,000.00 |
ค่าโทรศัพท์ | 3,000.00 | 3,000.00 | 2,000.00 |
ค่าบำรุงรักษา | 1,000.00 | 1,000.00 | 1,000.00 |
คืนเงินกู้และดอกเบี้ยเงินกู้ | 20,000.00 | 20,000.00 | 20,000.00 |
ค่าประกันภัย | 2,000.00 | 2,000.00 | 2,000.00 |
ค่าธรรมเนียมต่างๆ | 2,000.00 | 2,500.00 | 2,000.00 |
ค่ารับรอง | - | - | - |
อื่นๆ | 10,000.00 | 8,000.00 | 10,000.00 |
กระแสเงินสดจ่าย | 181,000.00 | 184,500.00 | 205,000.00 |
กระแสเงินสดสุทธิ | 47,800.00 | 33,300.00 | 11,700.00 |
ได้เงินกู้มา | - | - | - |
เงินกู้จากเจ้าของ | - | - | 20,000.00 |
กระแสเงินสดรับสุทธิ | 47,800.00 | 33,300.00 | 8,300.00 |
คืนเงินให้เจ้าของ | - | - | - |
เหลือเงินสดปลายงวด | 47,800.00 | 33,300.00 | 8,300.00 |