เว็บไซต์ภายใต้กรม ฯ
หลักเกณฑ์การพิจารณาการให้สินเชื่อของสถาบันการเงิน
ผู้ประกอบการมักสงสัยว่าทำไมการขอสินเชื่อหรือขอเงินกู้ถึงได้ยุ่งยากมากนัก เวลาไปพบเจ้าหน้าที่ธนาคารก็จะมีการตั้งคำถามมากมาย ถามทั้งเรื่องธุรกิจและเรื่องส่วนตัวเสร็จแล้ว ก็ไม่เห็นอนุมัติให้วงเงินกู้เลย การพิจารณาให้สินเชื่อของธนาคารหรือสถาบันการเงินทั้งไทยและต่างประเทศก็มีหลักเกณฑ์คล้ายๆกันโดยทั่วไปจะใช้หลักเกณฑ์สองหลักเกณฑ์ในการให้สินเชื่อมาพิจารณา เมื่อผู้ขอสินเชื่อผ่านหลักเกณฑ์ที่หนึ่งแล้วเจ้าหน้าที่สินเชื่อก็จะไปวิเคราะห์ในหลักเกณฑ์ที่สองต่อไปคือ
- หลักเกณฑ์ 3 P
- หลักเกณฑ์ 5 C
1. หลักเกณฑ์ 3 P ประกอบไปด้วย Purpose, Payment, Protection
Purpose (วัตถุประสงค์ในการกู้เงิน) ผู้กู้จะนำเงินกู้ไปทำอะไรแล้วเกี่ยวกับกิจการหรือไม่ ให้ไปแล้วจะช่วยให้กิจการมีกำไรมากขึ้นหรือไม่
- วัตถุประสงค์ควรเป็นสิ่งที่ดี ไม่ผิดกฎหมายหรือจารีตและศีลธรรม
- วัตถุประสงค์ต้องไม่มีความเสี่ยงที่สูงเกินไป
- วัตถุประสงค์ควรจะเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมและทำให้กิจการมีผลดำเนินการที่ดีขึ้น
Payment (การชำระเงินกู้) พิจารณาดูแหล่งที่มาของการชำระคืนเงินกู้ และระยะเวลาการชำระคืน
- มีความสามารถในการชำระคืนในระยะเวลาที่กำหนดหรือไม่
- มีความสามารถในการชำระคืนภายใต้ภาวะวิกฤติหรือเศรษฐกิจตกต่ำหรือไม่
- พฤติกรรมการชำระเงินที่ผ่านมาในอดีต มีปัญหาการชำระเงินคืนจากที่อื่นไหม มีวินัยการเงินหรือไม่
Protection (การป้องกันความเสี่ยง) มีหลักประกันหรือบุคคลค้ำประกัน
- มีความสามารถในการเพิ่มทุนหรือไม่ หากเกิดภาวะขาดทุนติดต่อกันจนทุนติดลบ
2. หลักเกณฑ์การวิเคราะห์สินเชื่อด้วย 5 C คือ ให้หลักการดู Character, Capacity, Capital, Collateral, Condition
เจ้าหน้าที่วิเคราะห์สินเชื่อมักใช้หลักเกณฑ์นี้ในการวิเคราะห์ ซึ่งนิยมใช้กันมานานแล้วโดยเริ่มจาก
Character (บุคลิก ลักษณะและความตั้งใจจริงของผู้กู้)
- ดูภูมิหลังของเจ้าของ ดูการศึกษาและตำแหน่งหน้าที่ในสังคม บุคลิกลักษณะและแนวคิด
- ประวัติการทำงาน ประสบการณ์ ชื่อเสียงในการทำงานของกิจการและเจ้าของ
- ประวัติการใช้เงินกู้กับสถาบันการเงินอื่นๆ ความรับผิดชอบ ความตรงต่อเวลา
- ประวัติการใช้เงินกู้กับสถาบันการเงินอื่นๆ ความรับผิดชอบ ความตรงต่อเวลา
Capacity (ความสามารถในการทำกำไรและการชำระหนี้)
- ดูยอดขายและความสามารถในการทำกำไร ผลการดำเนินงานของกิจการ
- กระแสเงินสดสุทธิเพียงพอกับการผ่อนชำระหรือไม่
- ลักษณะและขนาดของธุรกิจ
- นโยบายการบริหาร วิสัยทัศน์ เป้าหมายของกิจการ
- มีศักยภาพในการแข่งขันหรือไม่และยังมีช่องว่างทางการตลาดให้เข้าไปหรือไม่
Capital (เงินทุนของเจ้าของกิจการหรือผู้ถือหุ้น)
- ดูโครงสร้างเงินทุน
- ดูทรัพย์สินถาวรของเจ้าของและผู้ถือหุ้น
- ดูภาระการติดจำนองและคดีความต่างๆที่เจ้าของกิจการถูกดำเนินคดี
- ดูหนี้สินและทรัพย์สินของกิจการ
Collateral (หลักค้ำประกัน) เพื่อป้องกันหนี้สูญ สถาบันการเงินจะขอหลักทรัพย์หรือบุคคลค้ำประกัน
- ดูประเมินราคาที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
- ใช้สิทธิการเช่าเป็นหลักประกัน
- โอนหุ้นสามัญ หุ้นกู้เป็นหลักประกัน
- ใช้ตั๋วสัญญาใช้เงินเป็นหลักประกัน
- บุคคล/นิติบุคคลเป็นผู้ค้ำประกัน
- โอนสิทธิรับเงินจากสัญญาจ้างงานเป็นหลักประกัน
Condition (สภาวการณ์และสภาวะแวดล้อมทางธุรกิจ) มักวิเคราะห์ถึงภาวะเศรษฐกิจและการเงินของประเทศและธุรกิจที่มาขอสินเชื่อเพื่อป้องกันหรือลดความเสี่ยงด้วย
- ดูว่ามีการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีในธุรกิจนี้หรือไม่
- เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภค
- สภาวะทางการเมืองที่ไม่มีเสถียรภาพ
- สภาวะทางเศรษฐกิจและสังคม
- นโยบายการค้าระหว่างประเทศ
- ระเบียบศุลกากรและอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา
ผู้ประกอบการที่ทราบถึงหลักเกณฑ์ทั้ง 3P และ 5C แล้วลองนำไปวิเคราะห์ตนเองก่อนที่จะไปขอสินเชื่อธนาคารเพื่อหาแนวทางในการตอบคำถามที่ทางเจ้าหน้าที่จะถามเพื่อวิเคราะห์ทั้งสองหลักเกณฑ์ หากผู้ประกอบการได้เตรียมตัวไว้ก่อนให้ได้ตามหลักเกณฑ์ทั้งสอง ก็จะเป็นประโยชน์อย่างมากในการขอสินเชื่อ หากสถาบันการเงินไม่อนุมัติสินเชื่อให้ก็ลองสอบถามดูว่าไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ข้อไหนเพื่อที่จะหาทางแก้ไขและปรับปรุงต่อไปได้