เว็บไซต์ภายใต้กรม ฯ
ตัวอย่างกรณีศึกษาของธุรกิจ SMEs เรื่องการบริหารจัดการสินค้าคงเหลือ
กิจการจะมีสภาพคล่องทางการเงินและมีเงินสดหมุนเวียนได้นั้น ก็อยู่ที่การบริหารสินค้าคงคลังที่มีประสิทธิภาพของกิจการ การมีสินค้าคงคลังจำนวนมากเกินไปยิ่งทำให้ต้องมีพื้นที่ในการจัดเก็บสต๊อกมากตามด้วย ตัวอย่างกิจการที่ประสบความสำเร็จในการบริหารจัดการสินค้าคงคลังเป็นกิจการแห่งหนึ่งที่เข้าร่วมในโครงการของกระทรวงอุตสาหกรรมด้านการบริหารจัดการสินค้าคงคลัง คือ
บริษัท อินโนเฟรช จำกัด ซึ่งเป็นผู้ผลิตซอสและน้ำจิ้ม ประเภทมายองเนส น้ำสลัด ผงปรุงรส และไส้ขนมปัง ผลิตและจำหน่ายทั้งในประเทศและส่งออกไปยังต่างประเทศด้วย ใช้ตราสินค้าชื่อเฟรชโอ นอกจากนั้นยังรับจ้างผลิตให้ผู้อื่น (OEM) โดยผลิตภัณฑ์ของบริษัทฯทั้งหมดได้ผ่านการรับรองระบบมาตรฐานสากลได้แก่ GMP , HACCP , HALAL , BRC ด้วย
ปัญหาที่เกี่ยวกับสินค้าคงคลัง ที่ต้องการแก้ไขและปรับปรุงมีทั้งหมด 3 ประเด็นคือ
1. ต้องการบริหารจัดการคลังสินค้าสามคลังที่ตั้งอยู่ในโรงงาน คือ 1.คลังเก็บวัตถุดิบและบรรจุภัณฑ์ 2. คลังเก็บสินค้าสำเร็จรูป 3.คลังเก็บเครื่องมือและอะไหล่ของฝ่ายช่าง โดยให้มีการใช้ระบบคอมพิวเตอร์ที่กิจการพัฒนาเองเพื่อตรวจสอบสินค้าคงคลังได้ทั้งหมดและมีการออกแบบเอกสารให้ใช้ในแบบฟอร์มเดียวกันด้วย
2. ต้องการให้คลังเก็บสินค้าของฝ่ายช่างมีระบบการบันทึกและการตรวจสอบอะไหล่ วัสดุ และเครื่องมือ ให้อยู่ในระบบที่ฝ่ายบัญชีสามารถตรวจสอบกับสินค้าคงคลังของจริงได้ เพื่อให้ฝ่ายจัดซื้อสามารถบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ
3. ต้องการบริหารจัดการ dead stock ของทั้งสามคลังโดยเฉพาะคลังเก็บสินค้าของฝ่ายช่างและคลังเก็บวัตถุดิบและบรรจุภัณฑ์เพื่อลดปริมาณสต๊อกให้เหมาะสมและเกิดผลกำไรได้มากขึ้น
วิธีการแก้ไขและปรับปรุง การบริหารจัดการคลังเก้บสินค้า คือ
1. วางระบบการเบิกจ่าย และการบันทึกข้อมูลของคลังเก็บสินค้าทั้งสามคลังโดยให้ใช้เอกสารระบบเดียวกันและใช้ระบบโปรแกรมคอมพิวเตอร์เดียวกันเพื่อบริหารจัดการง่ายขึ้น
2. บริหารจัดการสินค้าคงคลังโดยจัดกลุ่มแยกประเภทอายุการเก็บสินค้าคงคลังเพื่อบริหารจัดการกลุ่มที่เป็น Dead stock ก่อนกลุ่มอื่น
3. จัดพื้นที่เก็บคลังสินค้าของฝ่ายช่างและคลังเก็บสินค้าสำเร็จรูปใหม่เนื่องจากการบริหารจัดการ Dead stock ทำให้เพิ่มเนื้อที่ในคลัง
Finished Goods Warehouse
ผลที่ได้รับจากการแก้ไข
1. คลังสินค้าของฝ่ายช่างได้กรอกข้อมูลจำนวน 1,500 รายการได้ครบถ้วนโดย key in เข้าในระบบคอมพิวเตอร์ของบริษัทฯ ซึ่งบริษัทฯได้พัฒนาขึ้นมาเองเพื่อให้ทำงานได้ง่าย รวมทั้งสามารถตรวจสอบสินค้าในคลังได้แบบ real time
2. มีแบบฟอร์มการเบิกจ่ายที่เป็นแบบฟอร์มเดียวกันทั้งบริษัทฯ ซึ่งในอดีตแต่ละคลังสินค้าจะใช้แบบฟอร์มของตนเอง
3. สินค้าคงเหลือของคลังสินค้าทั้งสามแห่งสามารถดูข้อมูลได้ทางออนไลน์จากระบบคอมพิวเตอร์ของบริษัทและมีจำนวนสินค้าคงเหลือที่มีตัวเลขตรงกันกับตัวเลขของฝ่ายบัญชี
หลังทำการบริหารจัดการคลังสินค้าฝ่ายช่าง
บริษัท อินโนเฟรช จำกัด ได้รับผลสำเร็จอย่างมากในการบริหารจัดการคลังสินค้า เนื่องจากผู้บริหารและทีมงานของบริษัทมีความเข้มแข็งและทุกคนพร้อมให้ความร่วมมือกับที่ปรึกษาในโครงการ นอกจากนั้นพนักงานยังมีส่วนร่วมในการเสนอความคิดเห็นปรับปรุงแก้ไขการบริหารจัดการให้ดีขึ้น จนบริษัทฯได้บริหารจัดการ Dead stock ออกจากระบบได้จำนวนหลายล้านบาท ทำให้ลดจำนวนสินค้าคงคลังได้น้อยลงจากปี 2558 ประมาณร้อยละ 10, มีการวางแผนจัดซื้อสินค้าคงคลังให้มีปริมาณที่เหมาะสมได้, มีพื้นที่มากขึ้นจากการจัดการสต๊อกจึงได้ทำการขยายพื้นที่ทำงานของฝ่ายช่างได้มากขึ้น, ทีมงานได้นำแนวทางการแก้ไขสินค้าคงคลังไปควบคุมการผลิตได้โดยไม่จำเป็นต้องสำรองปริมาณสินค้าที่จะผลิตโดยเคยสำรองไว้ร้อยละ5-10 ต่อหนึ่งรุ่นการผลิต(Batch production) เหลือเพียงร้อยละ 2 เท่านั้น